หน้าหลัก > ข่าว > ข่าวฝ่ายบริการวิชาการ > สถาบันวิจัยและพัฒนา ลงพื้นที่ติดตามโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
สถาบันวิจัยและพัฒนา ลงพื้นที่ติดตามโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

ผู้ดูแลเว็บ สถาบันวิจัยและพัฒนา
2024-06-04 13:33:30


สถาบันวิจัยและพัฒนา ลงพื้นที่ติดตามโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

     เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 – 15.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒน์ พลอยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ นางสาวธนัญญา ศานติธรรมกุล หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการ และนางสาวเจนจิรา ชินวงษ์ เจ้าหน้าที่วิจัย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชนฐานรากในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2567 ในพื้นที่แรก คือ ชุมชนบ้านวัดมะเกลือ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่วิทยาลัยการจัดการอุตสาหกรรมบริการ นำทีมโดยอาจารย์นลิน สีมะเสถียรโสภณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และในการติดตามดังกล่าวนั้นคุณวลี สวดมาลัย หนึ่งในครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้ให้ข้อมูลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการเข้าร่วมกลุ่มอาชีพการทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากธรรมชาติ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง การใช้วัตถุดิบธรรมชาติอย่างต้นมะเกลือ (พืชประจำท้องถิ่น) มาสกัดและนำมามัดย้อมให้เป็นสีธรรมชาติจากผลมะเกลือ ต่อมาได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการทำผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติด้วยวิธีการ Eco Printing จากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันต้นมะเกลือในชุมชนเหลือไม่มาก กลุ่มอาชีพจึงจัดตั้งธนาคารต้นมะเกลือเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ต้นมะเกลือ และกระตุ้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นมะเกลือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มอาชีพยังได้มีการนำใบบัวมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ เช่น กล่องของที่ระลึกจากใบบัว พัดจากใบบัว และกระดาษจากก้านใบบัว การดำเนินการข้างต้นนั้นสามารถส่งเสริมให้ครัวเรือนและชุมชนได้พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการสร้างรายได้จากการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว 2 จังหวัดได้ในวันเดียว (One Day Trip) จากกิจกรรมการมัดย้อมผ้าสีธรรมชาติจากมะเกลือที่จังหวัดนครปฐม และทำพิซซ่าโฮมเมดที่จังหวัดนนทบุรี (พื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด) และในพื้นที่ที่สอง คือ ชุมชนหมู่ที่ 1 ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่ดูแลรับผิดชอบโดยวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ซึ่งนำทีมโดยอาจารย์ธนิต พฤกษธารา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ซึ่งดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยการสร้างนวัตกรรมสังคมและเพิ่มระดับความสุขมวลรวมของครัวเรือน โดยมีคุณพรภิรมย์ อ่อนสัมพันธุ์ เป็นผู้ให้ข้อมูลการดำเนินงานของชุมชนหมู่ที่ 1 ซึ่งจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานมาจากการที่พื้นที่ตำบลคลองโยงนี้เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกผักชีปริมาณมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ จึงทำให้อาจารย์ธนิต พฤกษธารา ผู้รับผิดชอบหลักของโครงการฯ นำผักชีนี้ไปทำการวิจัยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีอาจารย์ ดร.พลอยทราย โอฮาม่า และนักศึกษา ร่วมวิเคราะห์และทดลองคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผักชี ซึ่งได้ผลผลิตคือ ยาดมผักชีฝรั่งแบบแท่งและแบบตลับ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการสกัดมะกรูด มะนาว เป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมปรับอากาศ และดอกบัวแดงเป็นผลิตภัณฑ์สบู่และชาจากบัวแดง จากการดำเนินงานข้างต้นเป็นการร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบพื้นถิ่น 3 ฝ่ายด้วยกัน คือ 1) พื้นที่ชุมชนเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลักเพื่อส่งต่อให้ 2) วิทยาลัยนิเทศาสตร์เพื่อนำไปพัฒนารูปลักษณ์และกระบวนการทางการตลาด และในขณะเดียวกันได้ส่งวัตุดิบหลักเข้ากระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้เกิดการประสานความร่วมมือที่ครัวเรือน กลุ่มอาชีพ และชุมชน ได้รับผลประโยชน์ในการส่งเสริมการสร้างรายได้จากการผลิตผลผลิตทางการเกษตร และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากผลผลิตของตนเองได้

     สำหรับกิจกรรมข้างต้น สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยอาศัยการเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนได้เรียนรู้การนำแนวทางเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับ SDGs ในเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนทกุรูปแบบในทุกพื้น เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 การสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 12 การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 15  ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายที่ 17 การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ธนัญญา ศานติธรรมกุล : ข้อมูล

เจนจิรา ชินวงษ์ : เรียบเรียง

#SSRU #IRDSSRU #SDGs_SSRU

#มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

#สถาบันวิจัยและพัฒนา

______________________________________________

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

โทร. 0 2160 1341-5, 080-083-1341

Line ID : @ird.ssru

www.ird.ssru.ac.th