มรภ. สวนสุนันทา หนุน ชุมชนเปิดศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก จังหวัดสมุทรสงคราม ช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ตามยุทธศาสตร์บริการวิชาการชั้นนำด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมด้วย ผศ.ดร.ภญ.พิมพร ทองเมือง รักษาราชการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตสมุทรสงคราม รศ.ดร.บัณฑิต ผังนิรันดร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา คณะผู้บริหารร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ตามยุทธศาสตร์บริการวิชาการชั้นนำด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งรวบรวมองค์ความรู้ที่บูรณาการระหว่างการวิจัยการบริการวิชาการการเรียนการสอนและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผสมผสานร่วมกันให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน โรงเรียน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการ ตลอดจนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา อีกทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนโดยมีการวิจัยและการบริการวิชาการ เพื่อการรับรองคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้นวัตกรรมพร้อมใช้ นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์สร้างรายได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า โครงการศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอกนี้ไม่ใช่แห่งแรกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ทางมรภ.สวนสุนันทาเข้ามาช่วยส่งเสริมต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีมี 2-3 แห่งแล้ว ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือทำให้วิสาหกิจชุมชนนั้นๆ ที่มีความสมบูรณ์แบบและมีความพร้อมมากขึ้นจนเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ใช้วิชาการมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตผลต่างๆ จากที่วิสาหกิจชุมชนเดิมมีอยู่ก่อนนั้น ให้มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อชุมชนในส่วนรวม
นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดพัฒนาผลผลิตเดิมๆ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในแง่ของการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายและเพิ่มมูลค่ามูลทางการตลาดได้อีกด้วย เช่น การนำพริกบางช้างซึ่งเป็นพืชผักสมุนไพรในท้องถิ่นไปต่อยอดพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายในการใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าสนใจ โดยก็นักวิจัยได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ที่มาของพริกบางช้าง ซึ่งผมทราบมาก่อนแล้วว่าทางได้มีการทดลองปลูกในพื้นของทาง มรภ.สวนสุนันทาอยู่แล้วด้วย จนต่อมาก็ขยายผลไปหลายพื้นที่ ซึ่งกลุ่มต่างๆ ในชุมนก็ให้ความสนใจรวมถึงโรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ด้วย โดยต่างก็ได้รับการสนับสนุนให้ปลูกพริกบางช้างจำนวนมาก ผมจึงได้นำเรียนกับท่านผู้ว่าฯ ก็เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนโดยสั่งการไปทางเกษตรจังหวัดรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมช่วยดูแลเสริมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพคงคุณค่าและอัตลักษณ์ของพริกบางช้างไว้ แล้วจึงพัฒนาต่อยอดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ โดยผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายได้จนเกิดรายได้ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนและประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่และยังสามารถเป็นตัวอย่างให้กับศูนย์เรียนรู้อื่นๆ และผู้ที่มาศึกษาดูงาน แล้วนำไปต่อยอดต่อไป ซึ่งถ้าทุกแห่งสามารถนำไปขยายผลต่อยอดก็จะยิ่งเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก
วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอกนี้ มีคนเข้ามาศึกษาดูงานอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้นการที่ มรภ.สวนสุนันทาเข้ามาสนับสนุนและเติมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มสมาชิกก็ยิ่งทำให้เกิดความน่าสนใจยิ่งขึ้นจนมีการบอกต่อกันไป อย่างเช่นเรื่องของการปลูกพริกบางช้าง มันเป็นพริกที่ปลูกยาก อันนี้จริงๆแล้วเราก็ได้ได้รับความร่วมมือจากทางเกษตรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการปลูก การดูแลรักษาต้นพริกให้เติบโตเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ เนื่องจากพริกบางช้างเป็นพืชผักสวนครัวในชุมชนต่างเคียงคู่ประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงครามมาอย่างยาวนาน อย่างในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในสมัยรัชกาลที่2 ก็มีการพูดถึงเรื่องของการทำอาหารคาวหวานในสมัยนั้นที่มีส่วนผสมของพริกบางช้าง ดังนั้นการที่ทางมรภ.สวนสุนันทา นำเรื่องพริกบางช้างมาต่อยอดนวัตกรรมในการพัฒนาแปรรูปจนเกิดการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนจึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี
อีกอย่างเรื่องของผ้ามัดย้อมที่เป็นผลผลิตที่ขึ้นชื่อของทางเกษตรสวนนอก ที่ทางจังหวัดสมุทรสงครามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้การสนับสนุนส่งเสริมโดยให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ได้นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นผ้า ทั้งผ้ามัดย้อมของทางกลุ่มเกษตรสวนนอก และอื่นๆ เช่น กลุ่มยี่สาร อีกหลายๆ กลุ่มที่มีการผลิตผ้ามัดย้อมซึ่งมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มาจัดแสดงและจำหน่าย เช่น ในงานกาชาดที่ผ่านมาเมื่อเร็วนี้ ได้จัดให้มีการเดินแบบผ้าไทย ท่านผู้ว่าฯ ก็เน้นเลย ว่า “ขอให้เป็นผ้ามัดย้อม” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่ เพราะจังหวัดเองก็มีหน้าที่ในการที่จะส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว OTOP อยู่แล้ว จึงสนับสนุนเต็มที่ เช่นเดียวกับการต่อยอดพัฒนาวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ในวิสาหกิจชุมชนต่างๆ อีกหลายแห่งในอนาคต ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ได้มีการจัดลำดับในการเข้าไปดูแลส่งเสริมให้กับทางวิสาหกิจชุมชนต่อไป ซึ่งจังหวัดก็ต้องขอบคุณทาง มรภ.สวนสุนันทา สำหรับโครงการดีๆ เหล่านี้ แล้วก็พร้อมที่จะสนับสนุนทุกประการ
ด้าน ผศ.ดร.วัฒน์ พลอยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ รวมไปถึงโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์ราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยเราตั้งเป้าหมายสำหรับทั้งสองโครงการนี้ให้ชุมชนสามารถนำประโยชน์ไปต่อยอดการพัฒนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามงบประมาณรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐจัดสรรทุนสนับสนุน ซึ่งเราตั้งใจให้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนนี้เป็นต้นแบบ และเป็นตัวอย่างของชุมชนอื่นๆ ในการนำทรัพยากรที่มีในชุมชนเองมาต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการที่จะขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ครอบคลุม 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน คือ มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนท้องถิ่นต่อไป
สำหรับที่มาของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรสวนนอกนั้นเริ่มต้นจากการดำเนินโครงการวิจัยและต่อยอดนวัตกรรมร่วมกับศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยเริ่มจากการนำนักวิจัยลงพื้นที่ศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลประเด็นโจทย์ปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันระหว่างนักวิจัยและชุมชน ทั้งนี้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก มีองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ที่ทำกันอยู่ก่อนแล้ว เช่น การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เป็นต้น
ในกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทาง มรภ.สวนสุนันทา ก็ได้นำนักวิจัยและนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อศึกษา เรียนรู้และต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ จนกระทั่งพบว่า พริกบางช้าง ที่ซึ่งเป็นพืชผักสวนครัวประจำถิ่น และได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ประสบกับปัญหาที่ว่าในปัจจุบันพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามมีการเพาะปลูกพริกบางช้าง นักวิจัยจึงนำปัญหาข้างต้นมาศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อ เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามเพาะปลูกพริกบางช้างมากขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่สาธิตการเพาะปลูกพริกบางช้างที่ถูกต้อง เพื่อให้ผลผลิตที่ได้คุณภาพตรงตามคุณสมบัติมาตรฐานของพริกบางช้าง จากนั้นจึงนำผลผลิตพริกบางช้างต่อยอดแปรรูปเป็นน้ำมันและสารสกัดจากพริกบางช้างด้วยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของ มรภ.สวนสุนันทา ที่พร้อมสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ยาหม่องสารสกัดจากพริกบางช้าง สบู่สารสกัดจากพริกบางช้าง ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อให้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอกชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางแต่เดิม สามารถนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ได้ต่อไป
และจากกรณีศึกษาการต่อยอดนวัตกรรมจากปัญหาสังคม คือ ปัญหาการจัดการขยะจากกุหลาบจำนวนมากหลังจากการบูชาตามความเชื่อที่วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม นักวิจัยของ มรภ.สวนสุนันทา นำนวัตกรรมกระบวนการผลิตกระดาษจากก้านกุหลาบมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาข้างต้น โดยนักวิจัยเข้ามาถ่ายทอดความรู้วิธีการแปรรูปในทุกขั้นตอน เมื่อได้ผลผลิตเป็นกระดาษจากก้านกุหลาบจึงนำมาต่อยอดเป็นยันต์ท้าวเวสสุวรรณ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แล้วนำมาจำหน่ายในร้านภายในวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นการบูรณาการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับชุมชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิธีการจัดการขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) แบบครบวงจร ซึ่งการดำเนินงานข้างต้นตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงยุทธศาสตร์ราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้ได้ประโยชน์ครบทุกด้าน ซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จจนเป็นที่มาของการเปิดศูนย์เรียนรู้อย่างเป็นทางการในวันนี้ และต่อไปจะเป็นการเรียนรู้นำองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดจากแลกเปลี่ยนและบูรณาการการทำงานร่วมกันมารวบรวมไว้ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนในชุมชนและผู้สนใจในการเข้ามศึกษาดูงาน โดยศูนย์นี้จะเป็นศูนย์กลางและเป็นต้นแบบที่มีองคาพยพ มีการรวบรวมองค์ความรู้ที่เพียบพร้อม สามารถถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้ามศึกษาดูงานได้นำไปต่อยอดปฏิบัติจริง ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนในการต่อพัฒนาให้กับชุมชนท้องถิ่น ตามวิสัยทัศน์ของ มรภ.สวนสุนันทา ในการที่จะเป็นHUB หรือเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับชุมชนในการต่อยอดนวัตกรรมด้านต่างๆต่อไป
ด้าน นางบุปผา ไวยเจริญ ประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก นี้เกิดขึ้นมาได้โดยความร่วมมือของระหว่างของวิสาหกิจชุมชนของเรากับ ทาง มรภ.สวนสุนันทา นำทีมโดย รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ในการดูแลสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ตลอดจนให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แรกเริ่มที่เปิดศูนย์ตรงนี้เลย เริ่มแรกเป็นเรื่องของกระดาษสาจากก้านกุหลาบที่เหลือจากการใช้บูชาตามความเชื่อในวัดจุฬามณี จากที่เคยเป็นขยะต้องทิ้งและเสียงบประมาณจำนวนมากในการให้เทศบาลนำไปกำจัดทุกวัน ซึ่งเมื่อเรามาทดลองทำกระดาษสาก็พบว่าได้ผล ความร่วมมือดังกล่าวจึงเริ่มจากตรงนี้และดำเนินการจนมีความชำนาญจนเติบโตมาสู่การคิดว่าปรับปรุงศูนย์ใหม่ให้เหมาะสมและมีความพร้อมในการเป็นศูนย์เรียนรู้ที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้และรับการถ่ายทอดจนสามารถนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม นอกจากสนับสนุนนวัตกรรมองค์ความรู้แล้วทาง มรภ.สวนสุนันทา ก็ได้สนับสนุนประมาณเริ่มต้นในการสร้างศูนย์เรียนรู้อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมของเรานอกจากกระดาษสาที่เราทำจนสำเร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว ในตอนนี้ยังมีเรื่องของพริกบางช้างด้วย เพราะถึงแม้พริกบางช้างจะมี GI รับรองอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ว่าจริงๆแล้วการปลูกพริกบางช้างในพื้นที่ยังมีน้อยมากและปลูกแค่เฉพาะเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ตรงนี้ทาง มรภ.สวนสุนันทา ก็บอกว่า ควรต้องน่าจะมีจุดที่เป็นกลางในการเรียนรู้เรียนรู้ที่สามารถให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆในการปลูกทั้งขบวนการ ที่ไม่ใช่แค่วิธีการปลูกพริก แต่เรามองไปถึงการแปรรูป ว่า จะแปรรูปเป็นอะไรบ้าง ซึ่งตอนนี้ทาง มรภ.สวนสุนันทา ก็เข้ามาช่วยต่อยอดในเรื่องการแปรรูป เป็นครีมอาบน้ำจากพริกบางช้าง ยาหม่องจากพริกบางช้าง ฯลฯ
จากการที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาพบว่ามีหลากหลายมากเลยในกลุ่มที่ป็นศูนย์เรียนรู้ ที่เราได้ทำในเรื่องของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เรื่องของโลชั่น แปรรูปผ้ามัดย้อม แต่ว่าสมาชิก ของกลุ่มมีประมาณ 26 คน ทุกคนไม่สามารถ เขาไม่ได้ชอบผ้ามัดย้อมบางคนเขาก็ไม่ได้ชอบ ครีมก็ไม่ชอบ แต่เขาอาจจะชอบปลูกผัก เราพยายามหาอะไรที่มันตรงจริตของสมาชิก เขาชอบในเรื่องของการปลูกผัก ปรากฏว่าพันธุ์พริกที่ให้มาจากสวนสุนันทาเราก็แจกจ่ายให้กับสมาชิกไปปลูก มันโอเค พอมันโอเคแล้ว เราก็เลยมาขยายเอา แล้วพอเอามาขยายแล้วน่ะ ตรงนี้จะเป็นจุดเลยจุดว่าเป็นเลยว่า การปลูกพริก วิธีการดูแลวิธีการปลูกเป็นอย่างไร แล้วทีนี้เราจะมองในเรื่องของการแปรรูปละเพราะบางคนอาจจะมองว่า ปลูกแล้ว จะเอาไปไหนถ้าเกิดมันเยอะขึ้นมาจริงๆแล้วจะเอาไปไหนเราก็เลยมองในเรื่องของการแปรรูป มันก็จะเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก
นอกจากนี้ทาง มรภ.สวนสุนันทา เข้ามาช่วยทำเว็บไซต์ในเรื่องของพริกบางช้างให้ โดยจะมีเรื่องของความรู้ที่เน้นๆ อาทิ เรื่องของผลิตภัณฑ์ เรื่องของการแปรรูป และ เรื่องของการตลาดเราไม่กลัวอยู่แล้ว เพราะเรามีช่องทางอยู่ที่ตลาดน้ำอัมพวาด้วย เรามีร้านอยู่ตรงนั้นแล้วก็สามารถเอาไปวางจำหน่ายได้ แล้วตรงนี้ก็เป็นที่คนเขาเรียกว่าตลอดเวลา มีคนมาดูงานบ่อยมากตรงนี้เป็นอีกจุดนึงที่จะเป็นเรื่องของการขยายตลาด ซึ่งก็นับว่าประสบความสำเร็จและโตเร็วมาก และขอขอบคุณมรภ.สวนสุนันทา ในการที่เข้ามาส่งเสริมในการต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ให้กับชุมชน จนเกิดการพัฒนาและกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชน ที่มีความพร้อมในการถ่ายทอดและเป็นต้นแบบในการต่อยอดนวัตกรรมสำหรับผู้สนใจและชุมชนอื่นๆ ได้ต่อไป
วรฤทัย หาญโชติพันธุ์ : รายงาน
ภาณุพงศ์ ภุมรินทร์ : ภาพ
ฝ่ายบริการวิชาการ : ข้อมูล
______________________________________________
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
โทร. 0 2160 1341-5, 080-083-1341
Line ID : @ird.ssru